๑.๒๓.๒๕๕๒

โรฮิงยาส์

โรฮิงยาส์


ประเทศพม่านับว่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีประชาชนที่เป็นคนเชื้อชาติพม่า กะเหรี่ยง มอญ คะชิ่น อารากัน ฯลฯ แต่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการลืมหรือทำให้ "ถูกลืม" จากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ และ ไม่ได้รับการพูดถึงมากมายในเวทีวิชาการพม่าจนถึงในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย คือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกว่า "โรฮิงยาส์" (Rohingyas)

ชาวโรฮิงยาส์เป็นประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐอารากัน (ยะไข่) ในตอนเหนือของประเทศพม่าติดกับชายแดนประเทศบังกลาเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง Maungdaw, Buthidaung, Rathedaung, Akyab และ Kyauktaw ชาวโรฮิงยาส์มีภาษาเป็นของตัวเอง คือ ภาษาอินดิค(Indic language) ที่มีความคล้ายกับภาษาเบงกาลีที่ใช้พูดในประเทศบังกลาเทศและอินเดีย (ชาวโรฮิงยาส์ไม่ได้พูดภาษามาลายูหรือภาษายาวีตามที่นักข่าวไทยบางสำนักซึ่งทำข่าวเรื่องโรฮิงยาส์อ้าง แต่พูดภาษาชิตตาโกเนี่ยน - Chittagonian ซึ่งเป็นภาษาคล้ายกับภาษาในพื้นที่ Chittagong ในประเทศบังกลาเทศ) ประชากรของชาวโรฮิงยาส์มีประมาณ 7 แสนถึง 1.5 ล้านคนในรัฐอารากันที่มีประชากรมากถึง 3 ล้านคน (ดู Myanmar - The Rohingya Minority: Fundamental Rights Denied รายงานของสำนักงานใหญ่ องค์กรนิรโทษกรรมสากล ประจำกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

ประวัติศาสตร์ของชาวโรฮิงยาส์ยังมีความหลากหลายมากในปัจจุบัน มีรายงานและงานวิจัยหลายส่วนที่ให้ข้อมูลไว้ว่าเป็นผู้คนที่อยู่ในตอนเหนือรัฐอารากันมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 7-12 และได้นับถือศาสนาอิสลามเนื่องจากพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐอารากันมีพ่อค้าชาวอาหรับเข้ามาค้าขายเป็นเวลายาวนาน แต่ในมุมมองของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ชาวโรฮิงยาส์เป็นประชาชนที่ "ลี้ภัยอย่างผิดกฎหมาย" และอพยพมากจากประเทศบังกลาเทศในสมัยที่พม่าตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของจักรวรรดินิยมอังกฤษ ดังนั้นด้วยทัศนคติเช่นนี้ของรัฐบาลเผด็จการพม่าทำให้ประชาชนชาวโรฮิงยาส์ไม่ได้รับการรวมเข้าไปในกลุ่มชนพื้นเมือง (Indigenous groups) ในรัฐธรรมนูญพม่า ส่งผลให้ไม่ได้รับสัญชาติพม่า การที่ชาวโรฮิงยาส์ไม่ได้รับสัญชาติทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ จากรัฐบาล ทั้งยังถูกคุกคามอย่างต่อเนื่องมากกว่าชนกลุ่มน้อยหรือประชาชนเชื้อชาติอื่นๆ โดยเฉพาะจากความแตกต่างทางศาสนาและเชื้อชาติ ได้รับการคุกคามและเลือกปฏิบัติในทุกระดับจากรัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะนับถือศาสนา การเข้าถึงการศึกษา สิทธิในการรักษาโรค จนถึงไม่สามารถแต่งงานได้ ถูกบังคับให้เป็นทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน และไม่สามารถเดินทางออกนอกเพื่อไปประกอบอาชีพนอกพื้นที่ได้ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากจนมากนอกจากนี้ชุมชนชาวโรฮิงยาส์ยังได้รับการปราบปรามอย่างต่อเนื่องโดยมีเหตุการณ์สำคัญในปี ค.ศ. 1962 1978 และ 1991 ทำให้มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาส์หลบหนีภัยเข้าไปในบังกลาเทศ ปากีสถาน ซาอุดิอาราเบีย เป็นหลัก โดยที่ประเทศรองลงมา คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรด มาเลเซีย และประเทศไทย

สถานการณ์ในประเทศมาเลเซียและบังกลาเทศ

แม้ว่าในช่วงต้นทศวรรษ 1990 รัฐบาลมาเลเซียมีนโยบายที่ค่อนข้างประนีประนอมกับชาวโรฮิงยาส์ แต่จาอใสนโยบายค่อนข้างมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาส์ในมาเลเซียมักจะได้รับการคุมขังเป็นระยะเวลาหลายเดือนในค่ายกักกัน โดยไม่ได้อาหาร ยารักษาโรค หรือสภาพความเป็นอยู่ที่ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล บางกรณีได้รับการข่มขู่หรือซ้อมก่อนถูกส่งกลับตัวมาประเทศไทย ซึ่งมีหลาย ๆ ครั้งที่แม้แต่สำนักงานข้าหลวงผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ยังไม่สามารถเข้าไปให้การช่วยเหลือทางกฎหมายได้ ในส่วนของบังกลาเทศ สถานการณ์ของชาวโรฮิงยาส์ก็ไม่ได้เลวร้ายไปกว่ากันเท่าไร ในปี 1978 ประชาชนชาวโรฮิงยาส์มากกว่า 2 แสนคนลี้ภัยไปประเทศบังกลาเทศ หลังจาก ยุทธการกษัตริย์มังกร (Dragon King) โดยกองทัพทหารพม่าที่ทำขึ้น เพื่อ "กำจัดบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศ ซึ่งรวมถึงประชาชนและชาวต่างชาติที่เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย" กระบวนการนี้มีนโยบายโดยตรงต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์จนนำไปสู่การฆ่า ข่มขืน และทำลายมัสยิดต่างในพื้นที่ (ดูรายงาน The Rohingya Minority: Fundamental Rights Denied) ในช่วงปี 1992-1993 ประชากรโรฮิงยาส์อีกกว่า 250,000 คนหลบหนีเข้าไปในบังกลาเทศอีกระลอกซึ่งได้มีรายงานเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับสถานการณ์การสังหารชาวโรฮิงยาส์อย่างเป็นระบบ (summary executions) การทรมาน และการข่มขืนในประเทศพม่า รวมถึงกรณีการถูกบังคับเป็นแรงงานเยี่ยงทาสโดยไม่ได้รับการค่าตอบแทนใดๆ โดยทหารพม่า ในระหว่างปี 1992-1994 รัฐบาลบังกลาเทศได้ส่งตัวประชาชนโรฮิงยาส์มากกว่า 5 หมื่นคนกลับพม่าโดยการทำความเข้าใจระหว่างรัฐบาลบังกลาเทศกับรัฐบาลพม่า และล่าสุดนี้บ้านพักของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาส์กว่า 6,000 คนที่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำนาฟ (Naff) ติดกับชายแดนพม่า กำลังถูกรัฐบาลไล่ที่โดยอ้างว่าเป็นการสร้างที่อยู่อาศัยโดยผิดกฎหมาย ซึ่ง UNHCR ได้ประนามการดำเนินการครั้งนี้ว่าเป็นการกระทำ "ที่ไม่มีมนุษยธรรมเนื่องจากไม่มีการหาทางออกให้กับประชาชนเหล่านี้เลย" และมีการรายงานหลายครั้งว่ารัฐบาลบังกลาเทศได้พยายามไม่ให้ชาวโรฮิงยาส์ได้รับการช่วยเหลือจาก UNHCR

ชาวโรฮิงยาส์ในประเทศไทย

เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ชาวโรฮิงยาส์ในไทยกับสองประเทศที่กล่าวมาแล้ว ยังมีความแตกต่างและคล้ายกันอยู่ กล่าวคือ จำนวนประชากรชาวโรฮิงยาส์ในไทยไม่ได้มีจำนวนมากเท่าในบังกลาเทศหรือในมาเลเซีย มีจำนวนประมาณ 10,000 ถึง 15,000 คนเท่านั้น โดยส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดระนองและมหาชัย แต่สถานการณ์ไม่ได้มีความเลวร้ายแตกต่างกันเลย เนื่องจากการที่ประเทศพม่าไม่ได้ให้การรับรองว่าเป็นประชาชนของพม่า อีกทั้งรัฐบาลไทยก็ยังไม่ได้มีการสำรวจประชาชนโรฮิงยาส์อย่างจริงจัง ทำให้หลายๆ ครั้งตกสำรวจ อีกทั้งความเป็นไปได้ในการให้สถานภาพทางการเมืองกับชาวโรฮิงยาส์ยังเป็นไปได้ยากมาก เนื่องจากชาวโรฮิงยาส์ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเชื้อชาติที่กระทรวงมหาดไทยจะให้สถานภาพทางการเมือง เช่น แม้ว่าชาวพม่าทั่วไปจำนวนหนึ่งจะสามารถลงทะเบียนเป็นแรงงานต่างด้าวได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ชาวโรฮิงยาส์ไม่สามารถทำได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มีความรู้ในส่วนนี้และไม่เข้าใจว่าประชาชนชาวโรฮิงยาส์เป็นคนพม่า และหลายครั้งเข้าใจผิดว่าเป็นคนบังกลาเทศ ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวโรฮิงยาส์สามารถถูกกดขี่มากกว่าแรงงานพม่าเป็นพิเศษ รวมถึงการไม่มีความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของประชาชนโรฮิงยาส์ของประชาชนทั่วไป เห็นได้จากการเข้าใจผิดๆ ว่าประชาชนชาวโรฮิงยาส์พูดภาษามาลายูหรือเป็นกลุ่มนักรบรับจ้าง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่มีข้อเท็จจริงสนับสนุนแต่อย่างใด

๕ ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมาก ๆ นะครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

Prеtty! Τhis hаs been an extrеmely wonderful article.
Thanks for supplуing this іnfoгmation.


Heгe iѕ my blog post: hämorrhoiden symptome

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

If you аre going fοг finest contеnts like I do,
ѕіmply pay a νіsit thiѕ ωebsіte dailу as it gives quаlity
contents, thanks

Mу blog post Sixpack

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

If somе one ωishes to be upԁаted with neweѕt technοlogies after that he
must be visіt this web pаge аnd be up to date evеryday.



My page - Chatroulette

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

Way cοol! Some veгy valid pоints!
І appreciate you penning thіs pοst and also the reѕt
of the website іs ехtrеmely good.


my site - verdopple deine Dates ebook