๑.๒๓.๒๕๕๒

โรฮิงยาส์

โรฮิงยาส์


ประเทศพม่านับว่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีประชาชนที่เป็นคนเชื้อชาติพม่า กะเหรี่ยง มอญ คะชิ่น อารากัน ฯลฯ แต่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการลืมหรือทำให้ "ถูกลืม" จากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ และ ไม่ได้รับการพูดถึงมากมายในเวทีวิชาการพม่าจนถึงในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย คือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกว่า "โรฮิงยาส์" (Rohingyas)

ชาวโรฮิงยาส์เป็นประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐอารากัน (ยะไข่) ในตอนเหนือของประเทศพม่าติดกับชายแดนประเทศบังกลาเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง Maungdaw, Buthidaung, Rathedaung, Akyab และ Kyauktaw ชาวโรฮิงยาส์มีภาษาเป็นของตัวเอง คือ ภาษาอินดิค(Indic language) ที่มีความคล้ายกับภาษาเบงกาลีที่ใช้พูดในประเทศบังกลาเทศและอินเดีย (ชาวโรฮิงยาส์ไม่ได้พูดภาษามาลายูหรือภาษายาวีตามที่นักข่าวไทยบางสำนักซึ่งทำข่าวเรื่องโรฮิงยาส์อ้าง แต่พูดภาษาชิตตาโกเนี่ยน - Chittagonian ซึ่งเป็นภาษาคล้ายกับภาษาในพื้นที่ Chittagong ในประเทศบังกลาเทศ) ประชากรของชาวโรฮิงยาส์มีประมาณ 7 แสนถึง 1.5 ล้านคนในรัฐอารากันที่มีประชากรมากถึง 3 ล้านคน (ดู Myanmar - The Rohingya Minority: Fundamental Rights Denied รายงานของสำนักงานใหญ่ องค์กรนิรโทษกรรมสากล ประจำกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

ประวัติศาสตร์ของชาวโรฮิงยาส์ยังมีความหลากหลายมากในปัจจุบัน มีรายงานและงานวิจัยหลายส่วนที่ให้ข้อมูลไว้ว่าเป็นผู้คนที่อยู่ในตอนเหนือรัฐอารากันมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 7-12 และได้นับถือศาสนาอิสลามเนื่องจากพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐอารากันมีพ่อค้าชาวอาหรับเข้ามาค้าขายเป็นเวลายาวนาน แต่ในมุมมองของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ชาวโรฮิงยาส์เป็นประชาชนที่ "ลี้ภัยอย่างผิดกฎหมาย" และอพยพมากจากประเทศบังกลาเทศในสมัยที่พม่าตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของจักรวรรดินิยมอังกฤษ ดังนั้นด้วยทัศนคติเช่นนี้ของรัฐบาลเผด็จการพม่าทำให้ประชาชนชาวโรฮิงยาส์ไม่ได้รับการรวมเข้าไปในกลุ่มชนพื้นเมือง (Indigenous groups) ในรัฐธรรมนูญพม่า ส่งผลให้ไม่ได้รับสัญชาติพม่า การที่ชาวโรฮิงยาส์ไม่ได้รับสัญชาติทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ จากรัฐบาล ทั้งยังถูกคุกคามอย่างต่อเนื่องมากกว่าชนกลุ่มน้อยหรือประชาชนเชื้อชาติอื่นๆ โดยเฉพาะจากความแตกต่างทางศาสนาและเชื้อชาติ ได้รับการคุกคามและเลือกปฏิบัติในทุกระดับจากรัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะนับถือศาสนา การเข้าถึงการศึกษา สิทธิในการรักษาโรค จนถึงไม่สามารถแต่งงานได้ ถูกบังคับให้เป็นทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน และไม่สามารถเดินทางออกนอกเพื่อไปประกอบอาชีพนอกพื้นที่ได้ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากจนมากนอกจากนี้ชุมชนชาวโรฮิงยาส์ยังได้รับการปราบปรามอย่างต่อเนื่องโดยมีเหตุการณ์สำคัญในปี ค.ศ. 1962 1978 และ 1991 ทำให้มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาส์หลบหนีภัยเข้าไปในบังกลาเทศ ปากีสถาน ซาอุดิอาราเบีย เป็นหลัก โดยที่ประเทศรองลงมา คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรด มาเลเซีย และประเทศไทย

สถานการณ์ในประเทศมาเลเซียและบังกลาเทศ

แม้ว่าในช่วงต้นทศวรรษ 1990 รัฐบาลมาเลเซียมีนโยบายที่ค่อนข้างประนีประนอมกับชาวโรฮิงยาส์ แต่จาอใสนโยบายค่อนข้างมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาส์ในมาเลเซียมักจะได้รับการคุมขังเป็นระยะเวลาหลายเดือนในค่ายกักกัน โดยไม่ได้อาหาร ยารักษาโรค หรือสภาพความเป็นอยู่ที่ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล บางกรณีได้รับการข่มขู่หรือซ้อมก่อนถูกส่งกลับตัวมาประเทศไทย ซึ่งมีหลาย ๆ ครั้งที่แม้แต่สำนักงานข้าหลวงผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ยังไม่สามารถเข้าไปให้การช่วยเหลือทางกฎหมายได้ ในส่วนของบังกลาเทศ สถานการณ์ของชาวโรฮิงยาส์ก็ไม่ได้เลวร้ายไปกว่ากันเท่าไร ในปี 1978 ประชาชนชาวโรฮิงยาส์มากกว่า 2 แสนคนลี้ภัยไปประเทศบังกลาเทศ หลังจาก ยุทธการกษัตริย์มังกร (Dragon King) โดยกองทัพทหารพม่าที่ทำขึ้น เพื่อ "กำจัดบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศ ซึ่งรวมถึงประชาชนและชาวต่างชาติที่เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย" กระบวนการนี้มีนโยบายโดยตรงต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์จนนำไปสู่การฆ่า ข่มขืน และทำลายมัสยิดต่างในพื้นที่ (ดูรายงาน The Rohingya Minority: Fundamental Rights Denied) ในช่วงปี 1992-1993 ประชากรโรฮิงยาส์อีกกว่า 250,000 คนหลบหนีเข้าไปในบังกลาเทศอีกระลอกซึ่งได้มีรายงานเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับสถานการณ์การสังหารชาวโรฮิงยาส์อย่างเป็นระบบ (summary executions) การทรมาน และการข่มขืนในประเทศพม่า รวมถึงกรณีการถูกบังคับเป็นแรงงานเยี่ยงทาสโดยไม่ได้รับการค่าตอบแทนใดๆ โดยทหารพม่า ในระหว่างปี 1992-1994 รัฐบาลบังกลาเทศได้ส่งตัวประชาชนโรฮิงยาส์มากกว่า 5 หมื่นคนกลับพม่าโดยการทำความเข้าใจระหว่างรัฐบาลบังกลาเทศกับรัฐบาลพม่า และล่าสุดนี้บ้านพักของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาส์กว่า 6,000 คนที่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำนาฟ (Naff) ติดกับชายแดนพม่า กำลังถูกรัฐบาลไล่ที่โดยอ้างว่าเป็นการสร้างที่อยู่อาศัยโดยผิดกฎหมาย ซึ่ง UNHCR ได้ประนามการดำเนินการครั้งนี้ว่าเป็นการกระทำ "ที่ไม่มีมนุษยธรรมเนื่องจากไม่มีการหาทางออกให้กับประชาชนเหล่านี้เลย" และมีการรายงานหลายครั้งว่ารัฐบาลบังกลาเทศได้พยายามไม่ให้ชาวโรฮิงยาส์ได้รับการช่วยเหลือจาก UNHCR

ชาวโรฮิงยาส์ในประเทศไทย

เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ชาวโรฮิงยาส์ในไทยกับสองประเทศที่กล่าวมาแล้ว ยังมีความแตกต่างและคล้ายกันอยู่ กล่าวคือ จำนวนประชากรชาวโรฮิงยาส์ในไทยไม่ได้มีจำนวนมากเท่าในบังกลาเทศหรือในมาเลเซีย มีจำนวนประมาณ 10,000 ถึง 15,000 คนเท่านั้น โดยส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดระนองและมหาชัย แต่สถานการณ์ไม่ได้มีความเลวร้ายแตกต่างกันเลย เนื่องจากการที่ประเทศพม่าไม่ได้ให้การรับรองว่าเป็นประชาชนของพม่า อีกทั้งรัฐบาลไทยก็ยังไม่ได้มีการสำรวจประชาชนโรฮิงยาส์อย่างจริงจัง ทำให้หลายๆ ครั้งตกสำรวจ อีกทั้งความเป็นไปได้ในการให้สถานภาพทางการเมืองกับชาวโรฮิงยาส์ยังเป็นไปได้ยากมาก เนื่องจากชาวโรฮิงยาส์ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเชื้อชาติที่กระทรวงมหาดไทยจะให้สถานภาพทางการเมือง เช่น แม้ว่าชาวพม่าทั่วไปจำนวนหนึ่งจะสามารถลงทะเบียนเป็นแรงงานต่างด้าวได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ชาวโรฮิงยาส์ไม่สามารถทำได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มีความรู้ในส่วนนี้และไม่เข้าใจว่าประชาชนชาวโรฮิงยาส์เป็นคนพม่า และหลายครั้งเข้าใจผิดว่าเป็นคนบังกลาเทศ ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวโรฮิงยาส์สามารถถูกกดขี่มากกว่าแรงงานพม่าเป็นพิเศษ รวมถึงการไม่มีความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของประชาชนโรฮิงยาส์ของประชาชนทั่วไป เห็นได้จากการเข้าใจผิดๆ ว่าประชาชนชาวโรฮิงยาส์พูดภาษามาลายูหรือเป็นกลุ่มนักรบรับจ้าง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่มีข้อเท็จจริงสนับสนุนแต่อย่างใด

วันตรุษจีน

ตรุษจีนคือ "วันชิวอิก" วันแรกของปี จะเริ่มต้นเมื่อหลังเที่ยงคืนของ "วันซาจั๊บ" ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของปี เรียกอีกอย่างว่า "วันถือ" เพราะถือเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ ทุกคนจะพูดแต่สิ่งดีๆ สิ่งที่เป็นมงคล


ทั้งนี้ กิจที่คนจีนจะต้องกระทำในเทศกาลตรุษจีนจะเริ่มตั้งแต่ "วันจ่าย" ซึ่งเป็นวันจ่ายตลาดเตรียมข้าวของสำหรับไหว้ในวันรุ่งขึ้น รวมทั้งเป็นวันจ่ายโบนัสให้ลูกจ้าง


1. *ไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ และไหว้ผีไม่มีญาติ*
วันซาจั๊บ ช่วงเช้าหลังจากไหว้เจ้าในบ้าน คือ "ตีจูเอี๊ย" ไหว้บรรพบุรุษแล้ว ในตอนเที่ยงจึงไหว้ผีไม่มีญาติ ซึ่งของไหว้จะมีทั้งของคาว-หวาน รวมทั้งเป็ด-ไก่ มากหรือน้อยแล้วแต่ฐานะของผู้ไหว้ และมีเครื่องกระป๋อง ข้าวสาร เกลือ เพื่อให้ผีไม่มีญาติพกไปด้วย
นอกจากนี้ยังต้องจุดขี้ไต้ 2 ชิ้นไว้ด้วย เมื่อไหว้เสร็จจะจุดประทัด จากนั้นจะโปรยข้าวสารผสมเกลือ ขับไล่สิ่งที่ไม่ดีให้หมดไป
2. *รวมญาติกินเกี๊ยว*
ความสำคัญอีกประการของตรุษจีน คือเป็นวัน *รวมญาติ* โดยทุกคนจะเดินทางมาร่วมโต๊ะกินเกี๊ยวในวันซาจั๊บมื้อสุดท้ายก่อนขึ้นปีใหม่ และที่ต้องเป็น "เกี๊ยว" ก็เพราะลักษณะของเกี๊ยวที่เหมือนกับ "เงิน" ของจีน ให้ความหมายว่า ให้มั่งมีเงินทอง
3. *กินเจมื้อเช้า* คือมื้อแรกของปี
ส่วนในวันชิวอิก คนจีนจะกินเจมื้อแรกของปี เชื่อกันว่าจะได้บุญเหมือนกับกินเจตลอดทั้งปี
4. *ทำพิธีรับ "ไช่ซิงเอี้ย"*
"ไช่ซิงเอี้ย" เป็นเทพพิทักษ์ทรัพย์ หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ส่วนใหญ่จะทำพิธีระหว่างหลังเที่ยงคืนของวันซาจั๊บจนถึงก่อนตี 1
5. *ห้ามกวาดบ้าน*
ก่อนตรุษจีน จะมีการทำความสะอาดบ้าน ปัดกวาดหยากไย่ครั้งใหญ่ เมื่อถึงวันปีใหม่จะไม่กวาดบ้านจนถึงวันชิวสี่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวันแรกของการเริ่มต้นทำงาน เพราะถือว่าจะกวาดเอาสิ่งที่เป็นมงคลทิ้งไป
6. *ติด "ตุ๊ยเลี้ยง" หรือคำอวยพรปีใหม่*
เมื่อก่อนคนจีนที่พอมีความรู้จะเขียน "ตุ๊ยเลี้ยง" เอง โดยใช้หมึกดำหรือสีทองเขียนคำอวยพรลงบนกระดาษสีแดง ถ้าไม่มีความรู้ก็จะไปจ้างมืออาชีพเขียนให้ ซึ่งแหล่งใหญ่ก็คือที่เยาวราช
คำอวยพรที่เขียนจะประกอบด้วยตัวอักษร 7 ตัว เขียนเป็นคำกลอน โดยมากจะอวยพรให้ทำมาค้าขึ้น ให้มั่งมีเงินทอง ติดตามสองข้างประตูบ้าน และมีอีกแผ่นสำหรับติดทางขวางตรงกลางทางเข้า-ออก เขียนคำว่า "ชุก ยิบ เผ่ง อัง" แปลว่า เข้า-ออกโดยปลอดภัย
รวมทั้งติดภาพเด็กผู้หญิง-เด็กผู้ชาย ที่เรียกว่า "หนี่อ่วย" ซึ่งเป็นภาพมงคลของจีน ถือเป็นงานศิลปะที่สำคัญอีกอย่างนอกเหนือจากการตัดกระดาษ มักติดที่ประตูหน้าบ้าน
7. *ใส่เสื้อผ้าใหม่สีสันสดใส*
วันตรุษจีนควรใส่เสื้อผ้าใหม่ที่มีสีสันสดใส
8. *ส้ม 4 ผล อวยพรผู้ใหญ่*
วันชิวอิกทุกคนจะนำส้ม 4 ผล ไปกราบผู้ใหญ่ขอพร เจ้าบ้านเองนอกจากจะเตรียมเมล็ดแตงโมย้อมสีแดงไว้ 1 พาน และลูกสมอจีนไว้รับแขกแล้ว เมื่อมีผู้มาอวยพร จะรับส้มขึ้นมา 2 ผล และนำส้มในบ้านที่เตรียมไว้วางคืนลง 2 ผล
9. *รับอั่งเปา* ข้อนี้สำคัญ
ทั้งอั่งเปาและแต๊ะเอีย ถึงแม้จะเป็นเพียงน้ำจิ้มเล็กๆ แต่ทุกคนก็รอคอยจริงมั้ย
10. *ไหว้เจ้าเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต*
ไหนๆ ก็ปีใหม่ รับสิ่งใหม่ๆ รับเงิน รับทอง และความมั่งมีศรีสุขแล้ว ก็ควรไหว้เจ้าเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตด้วย